สยามนาวา - วัฒนธรรมแห่งสายน้ำ เรือยาวประเพณีไทย

RedCorner - มุมแดง อุดมด้วย เรื่องเล่า ความรู้ และเกียรติประวัติ => 1. เรื่องเล่าขาน เปิดตำนาน ชาวเรือยาวประเพณี และบทสัมภาษณ์ => ข้อความที่เริ่มโดย: สยามนาวา ที่ พ.ย. 28, 2012, 06:57:17



หัวข้อ: ธุรกิจและคุณค่าของเรือยาว (ขมน้ำตาล หวานบอระเพ็ด) คมชัดลึก
เริ่มหัวข้อโดย: สยามนาวา ที่ พ.ย. 28, 2012, 06:57:17
ธุรกิจและคุณค่าของเรือยาว
ขมน้ำตาล หวานบอระเพ็ด : ธุรกิจและคุณค่าของเรือยาว : โดย...พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ


                       ออกพรรษาเป็นช่วงสนุกสนานกับเทศกาลงานกฐินและแข่งเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือยาว ซึ่งปัจจุบันนี้มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันทางโทรทัศน์มากมาย เป็นการแข่งขันเรือยาวที่มีผู้คนเฝ้ารอชมกันหน้าจอโทรทัศน์ คนพากย์ก็พากย์กันเสียจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของการแข่งเรือยาว ที่ต้องแหกปากตะโกนถ้อยคำซ้ำซากวนไปวนมารัวเร็วถี่ยิบจนฟังแทบไม่รู้เรื่อง
                       การแข่งเรือยาวที่โด่งดังในสมัยสามสิบกว่าปีที่ผ่านมามีอยู่ไม่กี่แห่ง หรือไม่กี่สนาม เช่น งานเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท, งานแข่งเรือยาวที่วัดเกาะหงษ์ จ.นครสวรรค์, งานแข่งเรือยาวที่ จ.พิจิตร โดยเรือยาวส่วนใหญ่เป็นเรือยาวประจำวัดต่างๆ ที่มีชื่อเสียงมาก เช่น เรือหงษ์ทอง ของวัดเกาะหงษ์, เรือขุนไกร จากพิจิตร, เรือของวัดตะเคียนเลื่อน นครสวรรค์ ฯลฯ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรือระดับมากกว่า 40 ฝีพายขึ้นไปทั้งนั้น
                       เรือยาวทั้งหมดล้วนเป็นเรือขุดอันหมายความว่า ทำมาจากไม้ทั้งต้นแล้วขุดให้ท้องเรือลึกลงไป โดยไม้ที่นิยมหรือทั้งหมดล้วนมาจากไม้ตะเคียน ซึ่งการขุดต้องใช้ฝีมือและความชำนาญของช่างเป็นสำคัญ เพราะต้องคำนวณให้เหลือความหนาของลำเรือพอดิบพอดี ลำเรือบางเกินไปก็จะทำให้ตัวเรืออ่อน เวลาที่จ้วงพายลงไปแรงๆ เรือจะไม่พุ่งไปข้างหน้าโต้คลื่นไม่ไหว ลำเรือหนาเกินไปก็หนัก ทำให้ฝีพายต้องออกแรงมากและแล่นได้ไม่เร็วเท่าที่ควร
                       ฝีพายหรือที่เรียกกันว่า “ลูกเทือก” ก็ใช้คนหนุ่มๆ ที่มีบ้านอยู่ละแวกวัดเป็นกำลังสำคัญ ไม่มีการเอาคนต่างถิ่นหรือไปหาจ้างฝีพายที่ไหนมาแข่ง ต่างจากปัจจุบันที่ไปสรรหาฝีพายจากค่ายทหารหรือตามวิทยาลัยต่างๆ เลือกสรรจ้างเอาคนหนุ่มแข็งแรงที่มีน้ำหนักตัวไล่เรี่ยกันมาลงพายในเรือ เก็บตัวฟิตซ้อมกันตามกำลังทรัพย์ของนายทุน หรือตามรายได้ที่หามาจากสปอนเซอร์ของเรือลำนั้นๆ
                       ในขณะที่ลูกเทือกหรือฝีพายยุคก่อนไม่มีทางเลือกมากนัก ผู้ชายในหมู่บ้านมีเท่าไหร่ก็ต้องเอาเท่านั้น อายุจึงมีตั้งแต่สิบหกสิบเจ็ดไปจนถึงห้าสิบกว่าๆ ปนเปกันไป เมื่อถึงเวลาเก็บตัวก็ไปนอนสุมกันที่ศาลาวัด พ่อแม่ลูกเมียก็เอาข้าวสารเอาไข่ไก่ไปบริจาคเพื่อให้ได้บำรุงกำลังกันตามมีตามเกิด การฟิตซ้อมก็ทำกันตามความรู้แบบไทยๆ โบราณ
                       ช่วงใกล้ออกพรรษาน้ำเริ่มลดก็จะเอาไม้ไผ่ลำยาวๆ ที่เรียกกันว่า “ลูกบวบ” มามัดรวมกันสักสี่ห้าลำ แล้วเอาลูกเทือกขึ้นไปนั่งคร่อมบนลูกบวบเพื่อหัดจังหวะจ้วงพายให้พร้อมกัน เมื่อได้จังหวะจะโคนดีแล้วจึงทำพิธีเอาเรือลงน้ำเพื่อซ้อมกับเรือจริงๆ ต่อไป ลูกเทือก หรือ ฝีพาย ที่มาจากคนในหมู่บ้านเดียวกัน พ่อแม่ปู่ย่าตายายทำบุญวัดเดียวกัน จึงทำให้เรือยาวไม่ใช่แค่เครื่องมือการแข่งขันเท่านั้น แต่เป็นศูนย์รวมจิตใจให้คนทั้งหมู่บ้านทั้งตำบลหันหน้ามารักใคร่ปรองดองกันและกันเพื่อร่วมกันเชียร์เรือยาวลำเดียวกัน
                       ต่างจากเรือยาวสมัยนี้ ที่ไปจ้างคนจากที่ไหนไม่รู้มาพาย เพื่อเอาชนะได้เงินรางวัลได้เดิมพันได้ค่าจ้างพาย คนในหมู่บ้านเดียวกันจึงต่างหันไปถือหางเดิมพันเรือยาวคนละลำกัน  การทะเลาะวิวาทเบาะแว้งของคนในชุมชนจึงเกิดขึ้นได้ เรือยาวสมัยก่อนกับเรือยาวสมัยนี้ จึงเหมือนกันตรงที่เป็นเรือและนำมาแข่งกัน แต่ต่างกันตรงที่มีคุณค่าทางจิตใจต่างกันลิบลับเลยครับ


http://www.komchadluek.net/detail/20121127/145761/%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7.html#.ULTwb6zxqa8 (http://www.komchadluek.net/detail/20121127/145761/%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7.html#.ULTwb6zxqa8)


หัวข้อ: Re: ธุรกิจและคุณค่าของเรือยาว (ขมน้ำตาล หวานบอระเพ็ด) คมชัดลึก
เริ่มหัวข้อโดย: hobbitsoz2 ที่ ธ.ค. 24, 2013, 02:22:31
โอ้ สุดยอดไปเลยครับ


หัวข้อ: Re: ธุรกิจและคุณค่าของเรือยาว (ขมน้ำตาล หวานบอระเพ็ด) คมชัดลึก
เริ่มหัวข้อโดย: earleen ที่ เม.ย. 03, 2014, 19:23:57
ดีมาก ๆเลย