แข่งเรือยาวบ่งบอกวิถีชีวิต
ฝีพาย - สายน้ำ - อนุรักษ์ ความงดงามแห่งศิลปะวัฒนธรรมของคนรุ่นปูย่าตายายที่ถ่ายทอดสู่รุ่นลูก ประเพณีดั่งเดิมที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต
หนึ่ง ... สอง ... สาม ... สี่ ... ห้า เสียงตะโกนดังก้องคุ้งน้ำ กับการให้จังหวะการจ้างพายลงในน้ำเพื่อส่งเรือยาวให้พุ่งปราดไปข้างหน้า เรียกความฮึกเหิมในตัวฝีพายแต่ละคน สีหน้าแต่ละคนมุ่งมั่นในระหว่างฝึกซ้อม ก่อนลงสนามจริง ในงานแข่งขันเรือยาวประเพณี ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่เป็นผู้นำในการอนุรักษ์มีน้ำเพชรบุ
วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับสายน้ำมายาวนาน ตั้งแต่อดีตมีการสร้างบ้านเรือน สร้างชุมชนอยู่ริมน้ำ หรือใกล้แหล่งน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำทั้งเพื่อนการอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรม จนมาถึงปัจจุบัน ที่แม้วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป แต่ผู้คนก็ยังอาศัยอยู่ริมน้ำ หรือแม่แต่สถานที่ท่องเที่ยวหากมีโอกาสก็ยังจับจองซื้อหาที่ดินริมน้ำ สร้างเป็นรีสอร์ต ที่พักอาศัย ด้วยความผูกพันกับธรรมชาติ และความฉ่ำเย็นของสายน้ำที่ช่วยให้ผ่อนคลายเมื่อยามพักผ่อน
สมัยก่อนแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางสำคัญในการสัญจรติดต่อไปมาค้าขาย เรือจึงเป็นพาหนะที่มีบทบาทสำคัญ แม้ระบบขนส่งจะเปลี่ยบนไป แต่ทุกวันนี้ยังคงมีการสัญจรทางน้ำ รวมทั้งการที่ผู้คนถววิลหาอดีตมากขึ้น ตลาดน้ำที่เคยเงียบเหงา ก็กลับมาเฟื่องฟู แต่ประเพณีหนึ่งที่แม้ไม่เฟื่องจนขีดสุด แต่ก็ไม่เคยหายไปจากสายน้ำ "การแข่งขันเรือยาวประเพณี"
ทุกวันนี้การแข่งเรือยาว ยังคงอยู่ เป็นกีฬาชาวบ้านในชุมชนชนบทของไทย ที่เกิดขึ้นจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ และวิถีชีวิตในฤดูน้ำหลาก ว่างเว้นจากการเพาะปลูก ปักดำทำนา ในเทศกาลงานบุญประเพณีออกพรรษา หรือช่วงงานวัดสำคัญๆ
หรือเช่นที่นี่ "แม่น้ำเพชรบุรี" ปกติการแข่งเรือยาว จะนิยมเล่นกันตามวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่กลางเดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 ซึ่งในวันแข่งเรือยาวจะเป็นวันเดียวกับที่เจ้าภาพนำผ้ากฐินทอด ณ วัดนั้น แต่ปัจจุบันถือโอกาสปรับเปลี่ยน ดึงการแข่งขันเรือยาวมาช่วยอนุรักษ์สายน้ำ ด้วยการจัดขึ้น ในช่วงวันที่ 7 สิงหาคม วันอนุรักษ์แม่น้ำเพชรบุรี โดยเป็นวันที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงหลั่งน้ำจากคนโท คืนชีวิตแก่แม่น้ำเพชรบุรี ณ ท่าน้ำวังบ้านปืน (พระรามราชนิเวศน์) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2541
ในวันนั้น ประชาชนชาวเมืองเพชรฯ ได้ร่วมกันถวายสัตย์ปฏิญาณต่อเบื้องพระพักตร์ ว่า จะร่วมกันดูแลรักษาแม่น้ำเพชรฯ ไม่สร้างความสกปรกให้แก่แม่น้ำ และจะช่วยกันฟื้นฟูแม่น้ำเพชรฯ ให้คืนสู่ความใสสะอาดเหมือนในอดีต
แม่น้ำเพชรบุรี มีต้นน้ำจากเทือกเขาตะนาวศรี ชายแดนไทย-พม่า ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของ จ.เพชรบุรี ไหลผ่านอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง ลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบ้านแหลม มีความยาว 210 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญเหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัด ซึ่งเมื่อมาถึงอำเภอบ้านแหลม แม่น้ำจะแยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบ้านแหลม อีกสายไหลไปทางทิศเหนือออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางตะบูน เรียกว่า แม่น้ำบางตะบูน
เพชรบุรีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรีจะอยู่ตามบริเวณสองฟากฝั่งของแม่น้ำนี้ และยังเป็นแม่น้ำสายสำคัญในฐานะที่เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
แม่น้ำเพชรบุรีช่วงไหลผ่านตัวเมืองเพชร ไม่ได้ใหญ่โตเวิ้งว้าง แต่ถือว่ามีความสำคัญเสมือนเส้นชีวิตของชาวเพชรบุรี เป็นทั้งน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม แต่ความเจริญก็นำมาซึ่งความเสื่อมโทรม และปัญหาสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นที่ทิ้งขยะและรองรับน้ำเสีย มีการก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำ คุณภาพน้ำต่ำลงเรื่อยๆ ทางจังหวัดต้องหันมาเร่งรณรงค์มากขึ้น
ผลแข่งขัน เรือเล็ก 23 ฝีพาย เรือจากเพชรบุรีคว้าถ้วยชนะเลิศ และรองชนะเลิศไปหมด แต่เรือยาว 40 ฝีพาย มีเรือดังจากสุพรรณบุรี เรือ เจ้าแม่จันทิมาพร มาคว้ารางวัลชนะเลิศ การแข่งขันจบไปแล้ว เรือยาวต่างกลับบ้านไปอย่างสมหวังและผิดหวัง แต่สายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตยังคงอยู่ และรอการอนุรักษ์ต่อเนื่องไปทุกวันตราบนานเท่านาน
ที่มา
http://www.komchadluek.net