การแข่งเรือยาว แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี เป็นสายน้ำที่ชาวอยุธยาผูกพันมาแต่อดีต ทั้งอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงค์ชีวิตแล้ว ก็ยังมีประเพณีพื้นที่บ้านที่เกี่ยวข้องกับทางน้ำอีก เช่น ประเพณีแข่งเรือยาว ซึ่งมักจะจัดขึ้นภายหลังที่มีการทอดกฐิน ประมาณเดือน ๑๑ ๑๒ ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลากในจังหวัดอยุธยานั้นกล่าวได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีวัดมาก และวัดที่ติดกับแม่น้ำก็มีมากเช่นกัน เช่น วัดสะแก อำเภออุทัย วัดเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา วัดนครหลวง วัดบางระกำ อำเภอนครหลวง เป็นต้น เพราะฉะนั้นการแข่งขันเรือยาวก็จะจัดขึ้นตามหน้าวัดต่างๆ แต่ในปัจจุบันนี้คงไม่เป็นแบบอดีตแล้ว การแข่งเรือยาวจะมีไม่มากนัก ผู้มีอายุหลายๆ ท่านได้บอกว่า สมัยก่อนวัดที่ติดแม่น้ำจะมีการแข่งเรือยาววัดน้อยลง เนื่องมาจากงบประมาณในการจัดค่อนข้าสูงและแม่น้ำก็เหือดแห้งไปเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ดีชาวบ้านบางระกำ อำเภอนครหลวงก็ได้พยายามอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ โดยจัดให้มีการแข่งเรือเป็นประจำทุกปี
เรือยาวที่ใช้ในการแข่งขันในสมัยโบราณนั้นเป็นเรือบด เพราะเรือบดจะมีความทนทาน แข็งแรง มากกว่าเรือต่อ เมื่อจะขุดเรือต้องใช้ไฟถากให้เป็นรูป ไม้ที่ใช้ก็ต้องเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ หรือท่อนซุง เนื้อไม้ต้องแข็งแรง ช่วงลำต้นต้องยาวตรงและคงทนน้ำได้ดี อยู่เป็นร้อยปีก็ไม่เปื่อยยุ่ย เมื่อขัดแล้วเนื้อไม้จะเงางาม
เมื่อก่อนเรือยาวจะมีขนาด ๒๕ ๓๐ ฝีพาย แต่เนื่องด้วยเรือยาวมีคุณสมบัติที่ว่า เรือยิ่งยาวมากเท่าไรก็จะส่งให้เรือมีกำลังมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นผู้เข้าแข่งขันจึงพยายามขุดเรือของตนให้ยาวมากขึ้น จากเดิม ๒๕ ๓๐ ฝีพาย ก็เพิ่มเป็น ๓๐ ฝีพาย บ้าง ๔๐ ๔๕ ฝีพายบ้าง
ความยาวของเรือใช่ว่าจะทำให้เรือที่เข้าแข่งชนะเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับทีมฝีพายว่ามีกลเม็ดเด็ดพรายในการพายเรืออย่างไร การที่เรือจะชนะต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่นั่งอยู่ในเรือ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า เทือก ที่ประจำแต่ละกระทงหรือกระดูกงู ส่วนคนที่นั่งหัวเรือเรียกว่า เล่นหัว คนที่นั่งท้ายเรียกว่า เล่นท้าย ผู้พายทุกคนต้องมีความสำคัญเหมือนกันหมด แต่ละคนที่นั่งมีหน้าที่ต่างกันไป คนที่พายในขณะพายจะไม่ได้เงยหน้าขึ้นมาดูหัวเรือเลยแต่ เล่นหัว และ เล่นท้าย จะเป็นคอยเคาะจังหวะให้ผู้พายรู้
ส่วนการพายที่ดีก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝีพายของผู้พาย ถ้าซ้อมกันมาดีจังหวะการพายก็พร้อมเพียง เวลาจ้วงในการพายก็ต้องยาวๆ สาวให้ลึก ตัวก็ต้องตั้งแขนให้ตึง ดึงแขนแค่ตัวก็เป็นเทคนิคการพายสูตรเฉพาะตัวเพื่อส่งเรือให้เร็วขึ้น
นอกจากรูปทรงความพร้อมของฝีพายแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้เรือเข้าเส้นชัยเร็วขึ้นอีอย่างหนึ่งคือ ร่องน้ำ หรือทางน้ำลึกที่เรือเดินได้ ถ้าเรือลำใดโชคดี หาร่องน้ำที่ดีได้เร็วก็จะช่วยให้คนพายไม่ต้องออกแรงมาก อีกทั้งกระแสน้ำจะช่วยส่งเรือให้เข้าเส้นชัยเร็วขึ้น
ส่วนความเชื่อโบราณที่บอกต่อๆ กันมาว่า หากเรือลำใดมีผู้นำตะปูหรือเข็มไปตอกที่เรือจะทำให้เรือลำนั้นแล่นช้า แต่ก็เป็นเพียงความเชื่อที่บอกต่อๆ กันมา ส่วนเรือจะชนะหรือแพ้คงไม่เกี่ยวกับตะปู แต่คงขึ้นอยู่กับทีมของผู้พายมากกว่าว่ามีความพร้อมกันมากแค่ไหน
และที่ก็คือเรือยาวที่เป็นอีกหนึ่งของภูมิปัญญาไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนช่างคิดช่างประดิษฐ์ของคนไทย ว่ามีความสามารถสร้างสรรค์สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้เพียงใด ดังนั้นพวกเราอนุชนรุ่นหลังก็ควรจะช่วยกันรักษาอนุรักษ์ สืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป
Refer: ฟารีดา แสงจันทร์ ตรีมุข.เล่าตำนานเรือยาว ( ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๐ ) โรงพิมพ์ เฑียนวัฒนา-:
สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ๙๖ ถนนปรีดี พนมยงค์ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา